เลือกตำแหน่งที่ตั้งของคุณ:

ประเทศ

กรุณาเลือกภาษา:

หุ่นยนต์ของ KUKA จะปฏิรูปวงการการต่อเรือ: MAMBO เรือลำแรกจากเครื่องพิมพ์ 3D

สีน้ำเงินเด่นสะดุดตาและน้ำหนักที่เบา: นี่เป็นเครื่องหมายของ MAMBO เรือลำแรกจากวัสดุไฟเบอร์กลาส ถูกผลิตขึ้นโดยหุ่นยนต์ KR QUANTEC ผ่านการพิมพ์แบบ 3D บริษัทสตาร์ทอัพสัญชาติอิตาเลียน Moi Composites ได้สร้างมาตรฐานใหม่ในการต่อเรือเพื่อความเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร

17 ธันวาคม 2563


ยาว 6.5 เมตร กว้าง 2.5 เมตร และมีน้ำหนักเพียง 800 กิโลกรัม: “Motor Additive Manufacturing Boat” เรียกสั้น ๆ ว่า MAMBO เป็น เรือลำแรกของโลกที่สร้างจากเครื่องพิมพ์ 3D ซึ่งสร้างขึ้นโดยใช้หุ่นยนต์ของ KUKA และประกอบจนเสร็จสมบูรณ์โดยผู้เชี่ยวชาญ ผู้ริเริ่มแนวคิดนี้คือบริษัทสตาร์ทอัพสัญชาติอิตาเลียน Moi Composites ซึ่งได้ทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญชั้นนำในด้านระบบอัตโนมัติ อาทิเช่น Autodesk UK และอุตสาหกรรมต่อเรือเพื่อทำให้โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นได้จริง
เรือ MAMBO สร้างขึ้นโดย KR QUANTEC

การพิมพ์แบบ 3D ด้วยระบบอัตโนมัติในการต่อเรือ

50 เปอร์เซ็นต์แรกของเรือประกอบขึ้นในโรงงานผลิตอันล้ำสมัยของ Autodesk ในเมืองเบอร์มิ่งแฮม โดยใช้หุ่นยนต์ของ KUKA ตัวอย่างเช่น ชิ้นส่วนของลำเรือเป็นต้น ในขณะเดียวกัน หุ่นยนต์ KR QUANTEC ของ KUKA ได้พิมพ์ชิ้นส่วนอีกครึ่งหนึ่งในเมืองมิลาน ประเทศอิตาลี ท้ายที่สุด MAMBO ได้รับการประกอบจนเสร็จสมบูรณ์ที่อู่ต่อเรือของที่นั่น เพื่อจุดประสงค์ดังกล่าวนี้ ชิ้นส่วนแต่ละชิ้นถูกประสานเข้าด้วยกันและเคลือบชั้นซึ่งทำให้เกิด “โครงสร้างแบบแซนวิช” โดยไม่มีการแยกส่วนดาดฟ้าของลำเรือ ผู้สร้างต้องการจะสาธิตให้เห็นความแข็งแกร่งของการพิมพ์แบบ 3D ด้วยหุ่นยนต์อุตสาหกรรม: กล่าวคือ การผลิตที่ยืดหยุ่นในสถานที่ปฏิบัติงาน จากทำเลที่ตั้งที่แตกต่างกันไป การผลิตดำเนินงานโดยใช้ระบบคลาวด์ เพื่อจะให้ทีมงานของ Moi Composites สามารถตรวจเช็คความคืบหน้าของงานได้ตลอดเวลา
หุ่นยนต์ KR QUANTEC เป็นชิ้นส่วนหลักในการสร้างเรือจากเครื่องพิมพ์ 3D 

เรือไฟเบอร์กลาสจะปฏิรูปการออกแบบการต่อเรือ

บริษัทสตาร์ทอัพแห่งนี้นำเสนอ MAMBO ให้โลกได้เห็นเมื่อตอนเดือนตุลาคมปี 2020 ใน “งานแสดงสินค้าเกี่ยวกับเรือ” ณ เมืองเจนัว และทำให้ผู้เยี่ยมชมงานแสดงสินค้าตื่นตาตื่นใจด้วยการออกแบบ: องค์ประกอบด้านข้างที่ทำให้นึกถึงคลื่นและรูปทรงที่เหมือนครีบปลาที่มีปลายเรียวแหลมไปยังส่วนท้าย Gabriele Natale และ Michele Tonizzo ผู้ร่วมก่อตั้งทั้งสองคนของบริษัท Moi Composites ต้องการกระตุ้นให้ช่างต่อเรือแบบดั้งเดิมหันมาสนใจที่จะใช้ประโยชน์จากข้อดีของระบบอัตโนมัติโดยใช้นวัตกรรมการพิมพ์แบบ 3D ด้วยหุ่นยนต์ ซึ่งไม่เพียงประหยัดเวลาและวัสดุเท่านั้น แต่ยังช่วยเปิดโลกทัศน์ในวิธีการออกแบบใหม่ ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อนด้วย อาทิเช่น ลำเรือที่มีรูปทรงที่เป็นเอกลักษณ์ของเรือไฟเบอร์กลาส MAMBO เป็นต้น การต่อเรือแบบเดิมมีความไม่ยืดหยุ่นนักเมื่อเทียบกับเรือที่ประกอบจากการพิมพ์แบบ 3D: หุ่นยนต์มีอิสระและความแม่นยำในการสร้างรูปทรงเรขาคณิตที่น่าจะเป็นไปได้ทุกรูปทรง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้จริงมาก่อน

ชั้นต่อชั้น: ชิ้นส่วนของเรือลำนี้ล้วนสร้างจากเครื่องพิมพ์ 3D

บริษัทสตาร์ทอัพสัญชาติอิตาเลียน Moi Composites สาธิตให้เห็นวิธีการทำงานของการพิมพ์แบบ 3D ด้วยหุ่นยนต์อุตสาหกรรมได้อย่างน่าประทับใจ

เรือไฟเบอร์กลาสเป็นรูปเป็นร่างขึ้นได้ด้วยความช่วยเหลือจาก KUKA

ชิ้นส่วนแต่ละชิ้นของ MAMBO ประกอบด้วยไฟเบอร์กลาสที่พิมพ์ขึ้นแบบ 3D โดยใช้ “การผลิตเส้นใยต่อเนื่อง Continuous Fiber Manufacturing” (CFM) ที่จดสิทธิบัตรของบริษัท Moi Composites กระบวนการพิมพ์แบบ 3D ที่เป็นนวัตกรรมใหม่นี้ เริ่มต้นในแบบจำลอง 3D ที่ประมวลผลโดยซอฟต์แวร์และทำให้เกิดขึ้นได้จริงโดยใช้หุ่นยนต์ KR QUANTEC, หุ่นยนต์ KR QUANTEC สามารถทำการแปรรูปเส้นใยต่อเนื่องที่มีการชุบเรซินแบบเทอร์โมพลาสติก

การใช้เทคโนโลยี CFM จะช่วยลดน้ำหนักที่ไม่จำเป็นออกไปได้ ในอีกแง่หนึ่งยังสามารถทำการพิมพ์แกนที่ทำให้เรือมีเสถียรภาพยิ่งขึ้น และเทคโนโลยีนี้ยังมีข้อดีอื่น ๆ อีก เช่น การชุบแข็งแบบเรียลไทม์โดยไม่จำเป็นต้องใช้รูปทรงที่กำหนดเฉพาะ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนและจุดคุ้มทุนให้ธุรกิจ แม้กระทั่งในการผลิตจำนวนล็อตไม่มากนักที่แต่ละล็อตมีความแตกต่างกัน

หุ่นยนต์ KR QUANTEC ของ KUKA จะพิมพ์ลำเรือของเรือไฟเบอร์กลาส MAMBO แบบชั้นต่อชั้น

“เราได้พิมพ์เรือแบบ 3D เพื่อจะให้แต่ละคนได้มีโอกาสสัมผัสกับทะเลในรูปแบบที่ไม่ซ้ำใคร Moi จะต่อยอดวิธีการออกแบบโดยการสร้างเรืออันเป็นเอกลักษณ์ตามความต้องการของเจ้าของ”

Gabriele Natale ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Moi Composites