เลือกตำแหน่งที่ตั้งของคุณ:

ประเทศ

กรุณาเลือกภาษา:

“Medical Robotics Challenge” ผู้เข้ารอบสุดท้ายสำหรับรางวัลด้านนวัตกรรม KUKA Innovation Award 2020

ทีมนักวิจัยจากทั่วโลกได้สมัครเข้าร่วม KUKA “Medical Robotics Challenge” คณะกรรมการอิสระนานาชาติได้้คัดเลือกห้าทีมที่ดีที่สุด ซึ่งทำให้แนวคิดของตนเองกลายเป็นจริงได้ด้วยหุ่นยนต์ทางการแพทย์ LBR Med และนำเสนอในงานแสดงสินค้าทางการแพทย์ MEDICA

26 กุมภาพันธ์ 2563


คณะกรรมการเฉพาะทางระดับนานาชาติของ รางวัลด้านนวัตกรรม KUKA Innovation Award ในปีนี้ได้ไอเดียทั้งหมดกว่า่ 40 ไอเดีย ซึ่งเป็นสถิติใหม่ “นั่นแสดงให้เห็นว่าเราเดินอยู่บนเส้นทางที่ถูกต้องแล้วด้วยคำขวัญ “Medical Robotics Challenge” ระบบหุ่นยนต์ทางการแพทย์ได้รับความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ” Dr. Rainer Bischoff รองประธานฝ่ายวิจัยประจำองค์กรของ KUKA กล่าว

ห้าทีมสุดท้ายมีเวลาในการทำให้แนวคิดของตนเกิดขึ้นจริงจนกระทั่งถึง งานแสดงสินค้าทางการแพทย์ MEDICA ในเดือนพฤศจิกายน พวกเขาจะได้หุ่นยนต์น้ำหนักเบา LBR Med ของ KUKA ไว้ใช้งาน ซึ่งเป็นส่วนประกอบหุ่นยนต์ส่วนแรกที่ได้รับการรับรองสำหรับการรวมเข้ากับผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ นอกจากนี้ทุกทีมยังจะได้รับการฝึกฝนโดยผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ของ KUKA ซึ่งจะคอยช่วยเหลือผู้เข้ารอบสุดท้ายตลอดระยะเวลาการแข่งขัน

ผู้เข้ารอบสุดท้ายของรางวัลด้านนวัตกรรม KUKA Innovation Award 2020 สามารถใช้งาน LBR Med สำหรับแนวคิดของตนเองได้

ในงานแสดงสินค้าทางการแพทย์ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองดืสเซลดอร์ฟ ผู้เข้ารอบสุดท้ายจะนำเสนอแนวคิดของตนเองต่อหน้าผู้เชี่ยวชาญนานาชาติที่เข้าร่วมงาน และคณะกรรมการจะคัดเลือกผู้ชนะรางวัลด้านนวัตกรรม KUKA Innovation Award 2020 โดยจะได้รับเงินรางวัล 20,000 ยูโร

การมอบรางวัลในครั้งนี้นับว่าเป็นการมอบรางวัลครั้งที่เจ็ด วัตถุประสงค์ของงานก็เพื่อเร่งสร้างนวัตกรรมในแขนงระบบอัตโนมัติที่ใช้หุ่นยนต์และเสริมสร้างการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากการวิจัยไปสู่อุตสาหกรรม รางวัลดังกล่าวมุ่งเน้นไปที่นักพัฒนา ผู้สำเร็จการศึกษา และทีมนักวิจัยจากบริษัทหรือมหาวิทยาลัยต่าง ๆ

และห้าทีมสุดท้ายสำหรับรางวัลด้านนวัตกรรม KUKA Innovation Award 2020 มีรายชื่อดังนี้:

ภาพหมู่ของผู้เข้ารอบสุดท้ายสำหรับรางวัลด้านนวัตกรรม KUKA Innovation Award 2020

1. ทีม SAHARRA - มหาวิทยาลัย Slovak University of Technology, บราติสลาวา, สโลวาเกีย

เมื่อกำจัดขนด้วยแสงเลเซอร์ แสงที่มีความเข้มข้นสูงจะแทรกซึมเข้าไปในรูขุมขน เม็ดสีของรากขนจะดูดซับแสงเลเซอร์และทำให้เกิดความร้อน ซึ่งจะทำลายรูขุมขนและยับยั้งการงอกของขนในอนาคต ทีม SAHARRA พัฒนาแอปพลิเคชั่นหุ่นยนต์ที่จะใช้ในการปรับปรุงความแม่นยำและความเร็วในการดูแลรักษา ระบบนำทางที่ทำงานสัมพันธ์กับ LBR Med จะกำหนดบริเวณที่ต้องทำการรักษาได้อย่างแน่ชัด จึงหลีกเลี่ยงการรักษาซ้ำซ้อนที่ไม่จำเป็นได้

2. ทีม CONEEBot – มหาวิทยาลัย Technische Universität Hamburg, ฮัมบูี์ร์ก, เยอรมนี

เข็มเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการรักษาด้วยการส่องกล้อง อาทิเช่น การตัดชิ้นเนื้อตรวจ กระบวนการที่ใช้ภาพช่วยและระบบหุ่นยนต์ได้รับการตรวจสอบมานานแล้วเพื่อช่วยในการกำหนดตำแหน่งเข็มได้อย่างแม่นยำ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการปรับตำแหน่งเข็มให้ตรงกับเป้าหมายโดยใช้หุ่นยนต์ จากนั้น แพทย์จะมีหน้าที่ในการขยับเข็มไปยังเป้าหมาย ภารกิจนี้มีความยากขึ้นเนื่องจากมีการเปลี่ยนรูปของเนื้อเยื่ออ่อนและการงอของเข็มในระหว่างการสอดใส่ วัตถุประสงค์ของทีม CONEEBOT ก็เพื่อจะพัฒนาเข็มแบบอัจฉริยะที่ตรวจจับสภาพแวดล้อมและเชื่อมต่อเข้ากับหุ่นยนต์ และช่วยแพทย์ในการกำหนดตำแหน่งเข็มได้อย่างถูกต้อง

3. ทีม HIFUSK - Scuola Superiore Sant’Anna, ปิซ่า, อิตาลี

Focused ultrasound surgery (FUS) หรือการรักษาโดยใช้คลื่นอัลตราซาวด์เฉพาะจุด เป็นวิธีการรักษาแบบไม่ต้องผ่าตัดที่มีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงการรักษามะเร็งอย่างสิ้นเชิง สามารถทำการรักษาดังกล่าวในลักษณะของผู้ป่วยนอกได้โดยไม่มีรอยแผลผ่าตัด จึงไม่ทำให้เกิดแผลเป็นภายหลังการผ่าตัด แต่วิธีการดังกล่าวนี้มีความยืดหยุ่นที่จำกัดและสามารถดำเนินการได้โดยใช้การฉายรังสีทางการแพทย์ช่วยเท่านั้น การนำ LBR Med เข้ามาส่งเสริมการรักษาดังกล่าวจะช่วยให้ได้ความยืดหยุ่นและการควบคุมที่มากขึ้น

4. ทีม RAOCT - มหาวิทยาลัย Duke University, เดอร์แฮม สหรัฐอเมริกา

เฉพาะจักษุแพทย์เท่านั้นที่สามารถทำการตรวจดวงตาได้ เครื่องสแกนจอประสาทตา (Optical Coherence Tomography - OCT) คือเทคโนโลยีแห่งอนาคต ถึงแม้ว่าวิธีการสแกนดังกล่าวนี้จะเป็นเทคโนโลยีมาตรฐานที่ใช้ทั่วไปเกี่ยวกับดวงตาหลายโรค เช่น โรคต้อหินหรือเบาหวานขึ้นตา แต่ยังต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่ทรงคุณวุฒิในการควบคุมการทำงาน เทคโนโลยีหุ่นยนต์จะช่วยปรับการทำงานของการฉายรังสีจอประสาทตาโดยอัตโนมัติ ทำการจัดตำแหน่งได้ดีขึ้นและช่วยให้การควบคุมการทำงานง่ายขึ้นเพื่อที่จะทำให้เทคโนโลยีดังกล่าวนี้เข้าถึงได้ง่ายยิ่งขึ้น

5. ทีม SpheriObot – Shanghai Jiaotong University Affiliated Sixth People’s Hospital, Shanghai Jiaotong University, Shanghai Electric Group, เซี่ยงไฮ้, จีน

ผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บสะโพกมีจำนวนมาก แม้แต่ในกลุ่มคนอายุน้อย วิธีการรักษาแบบดั้งเดิมสำหรับข้อสะโพกเสื่อมหรือการทำงานที่ไม่เพียงพอของเบ้าหัวกระดูกต้นขาเรียกว่า การผ่าตัดแก้ไขมุมของเบ้าสะโพก (Periacetabular Osteotomy - PAO) เบื้องหลังของศัพท์เฉพาะทางที่ครอบคลุมนี้มีกระบวนการการผ่าตัดเบ้าหัวกระดูกต้นขาหลายครั้งและมีการจัดวางตำแหน่งใหม่ การทำเช่นนี้อาจทำลายเส้นประสาทหรือหลอดเลือดได้ ทีมจากจีนพัฒนาระบบหุ่นยนต์ที่สามารถกำหนดตำแหน่งเบ้าหัวกระดูกต้นขาใหม่ด้วยการผ่าตัดเพียงเล็กน้อยโดยใช้เลื่อยชนิดพิเศษ ซึ่งจะเพิ่มความแม่นยำของวิธีการผ่าตัดและลดความเสี่ยงของภาวะการบาดเจ็บจากการผ่าตัดได้

ดาวน์โหลดจดหมายข่าว

ดาวน์โหลดเอกสาร PDF